โพสต์แนะนำ

ภูมิศาสตร์เมือง Urban Geography

ภูมิศาสตร์เมืองเป็นสาขาย่อยหนึ่งในภูมิศาสตร์มนุษย์(Human Geography) มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับเมือง(ci...

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Normative Model in Agricultural land Use



นักภูมิศาสตร์ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้พยายามที่จะอธิบายถึงรูปแบบทำเลที่ตั้งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ที่ตั้งของกิจกรรมร้านค้า โรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งทำเลที่ตั้งของกิจกรรมทางการเกษตร จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการศึกษา คือ การทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลควบคุมลักษณะของการใช้ที่ดินทางการเกษตร ซึ่งประกออบไปด้วย ปัจจัยทางเศรษฐกิจ กายภาพ สังคม-วัฒนธรรม ฯลฯ ผู้ที่ถือว่าเป็นผู้ริเริ่มในการค้นหาคำตอบข้างต้นคือ Von Thunen (1783-1850) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน เขาได้ศึกษาเกี่ยวกับทำเลที่ตั้งของกิจกรรมการเกษตรในฟาร์มของเขาเองในเขตเมือง Rostock ทางตอนเหนือของเยอรมัน และพบว่า ทำเลที่ตั้งของกิจกรรมทางการเกษตรจะแตกต่างไปตามระยะทางห่างออกจากตลาดและความเข้มของการใช้ที่ดินจะลดลงตามระยะทางห่างออกไปจากตลาด (รูป)



จากรูปเป็นโมเดลเชิงกำหนด (normative model) ที่ Von Thunen ได้เสนอไว้ ซึ่งจะเห็นว่าขอบเขตของการใช้ที่ดินแต่ละประเภทจะมีลักษณะเป็นรูปวงกลมซ้อนกันเป็นชั้นๆ โดยชั้นในสุดที่ติดกับตลาดจะเป็นเขตการใช้ที่ดินที่มีความเข้มที่สุดเช่น การปลูกผักผลไม้ เลี้ยงโคนม ค่าขนส่งสินค้าเหล่านี้ค่อนข้างสูงจึงทำให้จำเป็นจะต้องอยู่ใกล้กับตลาด นอกจากนี้ยังมีลักษณะเน่าเสียได้ง่าย (น้ำนม) จึงจำเป็นจะต้องขนส่งไปยังตลาดให้รวดเร็วที่สุด ถัดออกมาจากเขตแรก การใช้ที่ดินจะมีความเข้มลดลงเรื่อยๆ บางพื้นที่สามารถทำพืชหมุนเวียนและสามารถปล่อยที่ดินพักฟื้นได้หลายปี เช่น การปลูกธัญพืชประเภทข้าวต่างๆ นอกจากนี้ในเขตที่อยู่ห่างไกลจากตลาดมากๆ มีการเลี้ยงโคนมแต่ผลผลิตจำเป็นต้องมีการแปรรูปให้อยู่ในรูปที่เน่าเสียได้ยากกว่านมสด เช่น เนยเหลว เนยแข็ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องรีบขนส่งไปยังตลาด นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังมีมูลค่าสูงขึ้นทำให้สามารถทดแทนค่าขนส่งที่แพงเนื่องจากอยู่ไกล ได้

อย่างไรก้อตาม จะเห็นว่าโมเดลการใช้ที่ดินนี้ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ทั้งนี้เนื่องจาก เป็นโมเดลที่อยู่ภายข้อกำหนดเบื้องต้นหลายประการ เช่น ให้สมมติว่าเมืองดังกล่าวเป็นเมืองเดี่ยวที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากเมืองภายนอก สมมติว่าภูมิประเทศราบเรียบเหมือนกันทั้งหมดและ สภาพของดินและอากาศเหมือนกันทั้งหมด เป็นต้น จากข้อสมมติเหล่านี้ดูเหมือนว่าไม่สามารถเป็นไปได้ในปัจจุบันซึ่ง ลักษณะภูมิประเทศมีความแตกต่างกัน มีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างเมืองรอบข้าง มีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่หลากหลายและทันสมัย ดังนั้น จึงมีผู้วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของของว่ามีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นอกจากนี้พบว่ามีนักภูมิศาสตร์หลายท่านได้มีการทดสอบโมเดลของเขากับการใช้ที่ดินการเกษตรในสภาพพื้นที่จริงและได้พัฒนาโมเดลให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันมากขึ้น

แม้ว่าจะดูล้าหลังไป แ่ต่แนวคิดของเขาก็ได้เป็นแบบอย่างในการพยามยามอธิบายรูปแบบทำเลที่ตั้งทางการเกษตรที่ได้รับอิทธิพลจากค่าขนส่งและระยะทางจากตลาด นักศึกษาวิชาภูมิศาสตร์เศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเกษตรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาเรื่องราวของเขาเพื่อทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับทำเลที่ตั้งกิจกรรมการเกษตร

หมายเหตุ
การศึกษาทำเลที่ตั้งทางการเกษตรสามารถศึกษาโดยใช้แม่แบบการศึกษาอื่น เช่น โมเดลเชิงพฤติกรรม โมเดลการแพร่กระจาย เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น